โปรตีนกับระบบภูมิคุ้มกันและการอักเสบ
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเปรียบเสมือนกองทัพทหารที่คอยปกป้องประเทศ หรือระบบรักษาความปลอดภัยที่คอยป้องกันและกำจัดผู้บุกรุกหรือคนแปลกหน้าไม่ให้ทำอันตรายต่อเจ้าของบ้าน เมื่อร่างกายมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาหรือเกิดเซลล์ที่ผิดปกติขึ้น เช่น เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์และแบบสารน้ำต่าง ๆ ในระบบน้ำเหลืองจะทำงานร่วมกันเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นทั้งแบบจำเพาะและแบบไม่จำเพาะเจาะจง โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวต่าง ๆ เช่น นิวโตรฟิล (Neutrophil) อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เบโซฟิล (Basophil) และโมโนไซต์ (Monocyte) ทำหน้าที่จับทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะเจาะจง ในขณะที่เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ชนิด B-cells สร้างสารน้ำภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นโปรตีนชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) หรือ อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อจับกับแอนติเจน (Antigen) ของสิ่งแปลกปลอมและทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้นแบบจำเพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังมีโปรตีนไซโตไคน์ (Cytokine) เช่น อินเตอร์ลิวคีน (Interleukin: IL) ชนิดต่าง ๆ และอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิด T-cells และ B-cells โดยไซโตไคน์เหล่านี้ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์และช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกัน พร้อมกับดึงดูดให้เซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เข้ามาช่วยทำลายสิ่งแปลกปลอม รวมไปถึงระบบคอมพลีเมนท์ (Complement) ที่ทำหน้าที่ช่วยจับและนำเสนอสิ่งแปลกปลอมแก่เซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ทั้งแบบจำเพาะและไม่จำเพาะ ให้เข้ามาทำลายเซลล์สิ่งแปลกปลอมนั้นให้แตกสลายไปได้ง่ายขึ้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และทำลายสิ่งแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามมีหลายปัจจัยที่ส่งผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแย่ลงได้ เช่น โรคประจำตัว พันธุกรรม ภาวะทุพโภชนาการ ยาบางชนิดที่กดภูมิคุ้มกัน การสูบบุหรี่ ความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
การอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร และผลกระทบต่อสุขภาพ
สิ่งแปลกปลอมในร่างกายไม่ว่าจะมาจากภายนอก เช่น ไวรัส หรือจุลชีพก่อโรคต่าง ๆ สารก่อภูมิแพ้ การได้รับเลือดและอวัยวะปลูกถ่ายจากผู้อื่น การผ่าตัดหรือฉีดสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย หรือแม้กระทั่งสาร Advanced Glycation End Products (AGEs) ที่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรือปรุงด้วยความร้อนสูง และอาหารที่มีไขมันสูง รวมไปถึงเซลล์ผิดปกติหน้าตาแปลกปลอมที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเอง เช่น เซลล์เนื้องอก เซลล์มะเร็ง เหล่านี้สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้นมากกว่าภาวะปกติจนเกิดการอักเสบได้เสมอ การอักเสบเกิดขึ้นได้จากเอนไซม์และสารต่าง ๆ ที่หลั่งออกมาจากเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันระหว่างกระบวนการทำลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้น (มีไข้) โดยอาการแสดงภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดการอักเสบ คือ อาการปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่มีการอักเสบ เช่น บาดแผลที่ปวดบวม แดง ร้อน และอาจมีหนองจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อทำลายเชื้อโรคหรือเซลล์ที่ตายแล้วในบริเวณนั้น แต่หากการอักเสบเกิดขึ้นที่อวัยวะภายในร่างกาย เราอาจไม่สามารถรับรู้ถึงอาการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ นอกจากการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ เช่น เจาะเลือดหาค่าสารก่อการอักเสบ หรือปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สูงขึ้นผิดปกติ ในผู้ที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไวเกิน หรือการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การได้รับหรือเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกายเป็นประจำ ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้นบ่อย ๆ หรือยาวนานเรื้อรัง จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจและหลอดเลือด ตับ ไต จนทำให้ร่างกายเจ็บป่วยร้ายแรงหรือเกิดโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรัง (NCDs) ขึ้นตามมา
บทบาทของโปรตีนต่อการสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ
ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม การที่จะดูแลและสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน ทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย และอารมณ์ รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนโดยเฉพาะโปรตีนอย่างเพียงพอ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ปกติ เนื่องจากเซลล์และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโนที่ได้จากอาหารโปรตีนที่ร่างกายรับประทานเข้าไป ดังนั้นการรับประทานโปรตีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทั้งปริมาณและคุณภาพจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ภาวะทุพโภชนาการขาดโปรตีนและพลังงานส่งผลโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทุกระบบ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและความพิการในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล
กรดอะมิโนจำเป็นที่ได้จากโปรตีนในอาหารสำคัญต่อการสังเคราะห์สารและเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอย่างมาก เช่น อาร์จินีน (Arginine) มีความสำคัญและจำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง ช่วยเพิ่มจำนวนและกระตุ้นการสร้างไซโตไคน์จากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cells ที่ทำหน้าที่ในการทำลายเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็ง การขาดโปรตีนจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้แย่ลง ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอกเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น แผลหายช้า ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น นอกจากนี้โปรตีนยังให้กรดอะมิโนที่จำเป็นในการสังเคราะห์สารต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดการอักเสบ เช่น สารกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งใช้กรดอะมิโน 3 ชนิด คือ ซิสเตอีน (Cysteine) กลูตามีน (Glutamine) และไกลซีน (Glycine) ในการสังเคราะห์ในร่างกาย การได้รับอาหารโปรตีนต่ำจะส่งผลทำให้การสังเคราะห์กลูตาไธโอนต่ำลงและเกิดการอักเสบมากขึ้น กรดอะมิโนอื่น ๆ เช่น ทอรีน (Taurine) ซึ่งสามารถสังเคราะห์ในร่างกายได้จากซิสเตอีน เป็นตัวช่วยลดการอักเสบและเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน อย่างไรก็ตามพบว่าการได้รับกรดอะมิโนบางชนิดมากเกินไป เช่น โฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) ที่ได้จากอาหารและการสังเคราะห์ในร่างกายจากกรดอะมิโนชนิดเมไธโอนีน (Methionine) จะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากภาวะการอักเสบในหลอดเลือดได้

