ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องรักษาภาวะกรด-ด่างในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และที่สำคัญจะต้อง รับประทานอาหารให้เพียงพอ
โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ไม่สามารถขับของเสียและรักษาสมดุลน้ำ เกลือแร่ และกรดด่างในเลือดได้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง จากข้อมูลการสำรวจในประชากรไทยปี 2550 – 2551 พบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และมีปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุของโรค ได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพศหญิงมี
ความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่าเพศชาย ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง มีประวัติการเป็นโรคนิ่ว โรคที่เกิดจาก
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของไต หรือมีประวัติการใช้ยาแผนโบราณทั้งแผนไทยและแผนจีน(1)
ระยะของโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะตามอัตราการกรองของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) ซึ่งช่วยกำหนดแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมตามระยะของโรค รายละเอียดดังตารางดังต่อไปนี้
โดยผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 1 – 2 จะเน้นการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพตามโรคประจำตัวเดิมที่เป็น เช่น อาหารสำหรับควบคุมเบาหวาน ไขมัน หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 3 แบบเบื้องต้น (3a)
การรับประทานอาหารยังคงยึดหลักเช่นเดียวกับโรคไตระยะที่ 1 – 2 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคเดิมที่
ผู้ป่วยเป็น จนกว่าไตจะแย่ลงเข้าสู่ระยะ 3b – 5 ซึ่งทั้ง 3 ระยะ นี้จำเป็นต้องควบคุมอาหารโดยลดเค็ม และจำกัด
การบริโภคโปรตีน 0.6 – 0.8 กรัม/น้ำหนักตัวในอุดมคติ/วัน เพื่อชะลอการเสื่อมของไต ซึ่งปฏิบัติง่าย ๆ โดยจำกัดการรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลา ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ โดยรับประทานมื้อละ 2 – 3 ช้อนต่อมื้อ
ส่วนผู้ป่วยที่เข้าสู่การบำบัดทดแทนไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางหน้าท้อง จำเป็นต้องบริโภคพลังงานและโปรตีนให้เพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือด และล้างไตทางหน้าท้องจะมีการ
สูญเสียโปรตีนไประหว่างที่มีการฟอกเลือดล้างไตประมาณ 1 – 2 กรัม(2) และ 6 – 12 กรัมต่อวัน(3) ตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับพลังงานและโปรตีนจากการบริโภคอาหารชดเชยกลับเข้าไป โดยผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดควรรับประทานโปรตีน 1.1 – 1.4 กรัม/น้ำหนักตัวในอุดมคติ/วัน ส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางหน้าท้องควรรับประทานโปรตีน 1.2 – 1.3 กรัม/น้ำหนักตัวในอุดมคติ/วัน(4) มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยที่บำบัดทดแทนไตเกิดภาวะขาดโปรตีนและพลังงาน หรือ Protein Energy Wasting (PEW) ได้
ภาวะขาดโปรตีนและพลังงาน
กลไกการเกิดภาวะ PEW นั้นเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญในร่างกายและ
ต่อมไร้ท่อ การเพิ่มขึ้นของของเสีย การอักเสบของร่างกาย โรคร่วมเดิมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ รวมถึงกระบวนการฟอกเลือด
ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะ PEW ได้ ผู้ป่วยโรคไตที่มีภาวะ PEW ไม่เพียงจะมีอาการอ่อนแรงเท่านั้น แต่จะมีดัชนีภาวะโภชนาการในเลือดลดลง เช่น Albumin, Pre-albumin และ Cholesterol ร่วมกับมีมวลกายและ
มวลกล้ามเนื้อลดลง ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิต อัตราการติดเชื้อ และอัตราการนอนพักรักษาตัว
ในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลงอีกด้วย(5)
จากรายงานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดทดแทนไตมีจำนวนภาวะ PEW สูงถึงร้อยละ 8 – 33 ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตไม่ว่าจะด้วยวิธีการฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้องจำเป็นต้องรักษาภาวะกรด-ด่างในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และที่สำคัญจะต้อง
รับประทานอาหารให้เพียงพอทั้งพลังงาน และโปรตีน
โดยเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดีจากเนื้อสัตว์ เช่น ไข่ขาว ปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ ฯลฯ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของโปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานไข่ขาว 4 – 6 ฟองต่อมื้อ หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำประเภทอื่นประมาณ 4 – 6 ช้อนแกงต่อมื้อ เนื่องจากในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมนั้น ร่างกายมิอาจสังเคราะห์กรดอะมิโน Serine และ Tyrosine ได้เช่นเดิม แม้ว่ากรดอะมิโนทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นประเภท
“ไม่จำเป็น” หรือ Non-essential amino acid ซึ่งร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ได้เอง แต่ในสภาวะที่ไตเสื่อมนั้นความสามารถในการสังเคราะห์กรดอะมิโนทั้งสองนี้ลดลง และเนื่องจากกรดอะมิโน
ทั้งสองดังกล่าวมีความจำเป็นต่อกระบวนการที่สำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับจากโปรตีนคุณภาพดีเท่านั้นจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย(4)
นอกจากปริมาณโปรตีนคุณภาพดีที่ต้องรับประทานให้เพียงพอดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น การหยิบยกประเด็น
สารอาหารอื่น ๆ ในเนื้อสัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคไตมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ก็นับว่าได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ปริมาณโปรตีนอัลบูมิน เนื่องจากโปรตีนอัลบูมินในเลือดมีความสำคัญต่อการป้องกันการบวมน้ำ การสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และใช้เป็นเครื่องมือที่ดีในการพยากรณ์อัตราการตายในผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ดังนั้น
การรับประทานไข่ขาวซึ่งมีโปรตีนอัลบูมินเป็นองค์ประกอบสูงกว่าครึ่งหนึ่งจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องบริโภคอาหารให้ได้รับพลังงานเพียงพอต่อวันด้วย
มิฉะนั้นจะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับอัลบูมินในเลือด(6)
ปริมาณฟอสฟอรัสในเนื้อสัตว์แต่ละชนิดก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งนี้เนื่องจากแผนอาหารผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตนั้นมีเนื้อสัตว์ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการมีฟอสฟอรัสในเลือดผิดปกติ อันเป็นสาเหตุของกระดูกเปราะบางหักง่าย และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งในอนาคต ดังนั้นการเลือกเนื้อสัตว์ที่มีฟอสฟอรัสต่ำอย่างไข่ขาว เนื้อหมูไม่ติดมัน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันฟอสฟอรัสเกินได้
กรดไขมันโอเมก้า 3 จากเนื้อปลา สามารถลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพื่อให้ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เพียงพอ ผู้ป่วยสามารถเลือก
รับประทานปลาอย่างน้อย 1 มื้อต่อวัน หรือประมาณ 100 กรัมต่อวัน ส่วนการเสริมโอเมก้า 3 ในรูปอาหารเสริมนั้น
พบว่าไม่ส่งผลต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด(5)
โดยสรุปผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือทางหน้าท้อง ควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอทั้ง 3 มื้อ โดยรับประทานให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานเนื้อสัตว์ 4 – 6 ช้อนแกงต่อมื้อ โดยอาจแบ่งเป็น ไข่ขาวหรือเนื้อหมู 1 มื้อ เนื้อปลา 1 มื้อ อีกหนึ่งเป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ก็จะช่วยให้ได้รับพลังงานและโปรตีน
อย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะ PEW และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ข้อมูลอ้างอิง
- Ingsathit A, Thakkinstian A, Chaiprasert A, Sangthawan P, Gojaseni P, Kiattisunthorn K, et al. Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrol Dial Transplant. 2010 May;25(5):1567-75.
- Kaplan AA, Halley SE, Lapkin RA, Graeber CW: Dialysate losses with bleach reprocessed polysulfone dialyzers. Kidney Int47 : 573-578,1995.
- Wolfson M, Jones MR, Kopple JD: Amino acid losses during hemodialysis with infusion of amino acids and glucose. Kidney Int 21: 500-506,1982.
- สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไตผู้ใหญ่. 2018
- Fouque D, Kalantar-Zadeh K, Kopple J, Cano N, Chauveau P, Cuppari L, et al. A proposed nomenclature and diagnostic criteria for protein-energy wasting in acute and chronic kidney disease. Kidney Int. 2008;73:391–8
- Mehrotra R, Duong U, Jiwakanon S, et al. Serum albumin as a predictor of mortality in peritoneal dialysis: comparisons with hemodialysis. Am J Kidney Dis. 2011 Sep;58(3):418-28.
แท็กที่เกี่ยวข้อง :
โรคไต, ฟอกไต,ไข่ไก่, ไข่ขาว, โปรตีน, โปรตีนจากไข่ขาว, อัลบูมิน, Albupro